ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติ

ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติ


ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีภาวะเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติโดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก จากการศึกษาของบริษัทเมเปิลครอฟท์ บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงในอังกฤษ เปิดเผยรายงานดัชนีประเทศเสี่ยงภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จาก 170 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 14 ประเทศฟิลิปปินส์ติดอันดับที่ 6 ประเทศเมียนมาร์อันดับที่10 ประเทศกัมพูชาอันดับที่12 ประเทศเวียดนามอันดับที่13

ภัยพิบัติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมีความบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น ในอดีตปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ  จนกระทั่งคนในท้องถิ่นซึ่งอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ สามารถเรียนรู้ ปรับตัวกลมกลืนธรรมชาติและพยากรณ์การเกิดภัยพิบัติจากการสังเกตระบบเตือนภัยตามธรรมชาติได้ ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติขึ้นมักจะมีสัญญาญเตือนล่วงหน้า เช่น ลักษณะของเมฆบนท้องฟ้า พายุหิมะ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ที่แตกต่างไปจากปกติ ด้วยเหตุนี้คนในท้องถิ่นจึงสามารถเตรียมการป้องกันและมาตรการบรรเทาผลกระทบได้อย่างทันท่วงที เหตุการณ์เหล่านี้จึงเป็น ‘ความรุนแรงตามธรรมชาติ’ ที่คร่าชีวิตของมนุษย์และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่รุนแรงมากนัก

ปัจจุบันปรากฎการณ์เหล่านี้กลับเป็น ภัยพิบัติ ทั้งภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว  สึนามิ และภัยพิบัติที่มีสาเหตุจากมนุษย์เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ความอดอยาก  ภูมิปัญญาในการลดความเสี่ยง การเตรียมตนเองและเตรียมชุมชนให้มีความพร้อมที่จะเผชิญภัยพิบัติโดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือสามารถอยู่ร่วมกับภัยพิบัติได้อย่างสงบสุข ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่พึ่งพาเพียงแต่เทคโนโลยีในการเตือนภัยพิบัติ ภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษถูกลืมเลือนไป มนุษย์จึงเอาตัวรอดจากภัยพิบัติได้น้อยลงและปรับตัวเข้าการเปลี่ยนแปลงได้ยากขึ้น

หลายครั้งที่ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็ไม่อาจที่จะลดความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีเฮอร์ริเคนแคทรีนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548 และอุทกภัยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 ทั้งสองกรณีถึงแม้จะมีเทคโนโลยีการเตือนภัยพิบัติที่ทันสมัย แต่การสื่อสารเรื่องภัยพิบัติที่ไม่ชัดเจนและการประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ผิดพลาด ทำให้เกิดหายนะภัยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งสอง รวมทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถพยากรณ์การเกิดขึ้นล่วงหน้าได้  เช่น แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งแปซิฟิกโทโฮะกุและคลื่นสีนามิในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2554 การเตือนภัยทำได้หลังจากที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้นอาเซียนควรส่งเสริมการศึกษา ทำความข้าใจ เคารพและยอมรับภูมิปัญญาท้องถิ่นในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยง บรรเทา หลีกเลี่ยง ป้องกันหรือจำกัดความเสียหายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่างๆ ทั้งนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดเป็นพื้นฐานของความรู้สมัยใหม่ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม  หากมีการสืบค้นหาเพื่อศึกษา นำมาใช้ก็จะเป็นที่รู้จัก เกิดการถ่ายทอดและสร้างองค์ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติของชุมชน ที่มีผลสัมฤทธิ์และเผยแพร่ให้ท้องถิ่น ชุมชน นำไปปฏิบัติ รวมทั้งเป็นบทเรียนให้แก่นักปฎิบัติและผู้กำหนดนโยบายในการพิจารณาความรู้ของชุมชนท้องถิ่นและปฏิบัติการณ์เพื่อบูรณาการแหล่งความรู้ที่มีคุณค่านี้ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อันจะสัมพันธ์กับการทำงานเพื่อหนุนเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนมีส่วนร่วมและยุทธศาสตร์การปรับตัวเข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก